การปลูกพืชหลังน้ำท่วม
จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคอีสานบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีเป็นบริเวณกว้างขวางหลายอำเภอและอีกหลายจังหวัดใกล้เคียง และจากระยะเวลาการท่วมขังอันยาวนานสร้างความเสียหายแก่ประชาชนหลากหลายอาชีพโดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมเกิดความเสียหายแก่การปลูกพืชเป็นอย่างมากมาย และในระยะเวลาหลังน้ำลดเกษตรกรต้องมาฟื้นฟูการปลูกพืชเพื่อให้เกิดรายได้ในการดำรงชีพ แล้วเราจะมาปลูกพืชอะไรดีให้เหมาะ
งั้นเรามาพิจารณาปลูกพืชหลังน้ำท่วมกันเถอะอะไรดี บทความต่อไปนี้เป็นคำแนะนำจากคุณทวีศักดิ์ ด้วงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล กรมส่งเสริมการเกษตรให้แนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูสวนหลังน้ำท่วม ดังต่อไปนี้
1.การปลูกพืชผักระยะสั้น สร้างอาหารและรายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว
![]() |
![]() |
ปรับปรุงดิน-เพาะกล้า ก่อนลงแปลง
รดน้ำปูนใส เพิ่มความแข็งแรงให้ผัก
สำหรับพืชผักที่ใช้เป็นหลักในการประกอบอาหารนำมาบริโภคในชีวิตประจำวัน หากได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในวงกว้าง ราคาผลผลิตที่จำเป็นต่อการบริโภคย่อมสูงขึ้นตามมูลค่าความเสียหายไปด้วย มาดูวิธีฟื้นฟูและการปลูกพืชผักหลังน้ำลดกันดีกว่า คุณอรสา ดิสถาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและจัดการการผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกผักเป็นอาชีพว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงอันดับแรก คือ น้ำลดแล้วจริงหรือไม่? เพราะผักเป็นพืชรากสั้น หากเกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากขึ้นมาอีกพืชผักไม่เจริญเติบโตแน่นอน
ถ้าแน่ใจว่าน้ำลดแล้วอย่างแน่นอน การลงมือปลูกพืชผักใหม่ทันทีทำได้ แต่จะทำให้รากเน่า
สิ่งที่ควรทำ
1. รอให้ดินแห้งระยะหนึ่งก่อน และไม่ควรย่ำดินขณะที่ดินยังอุ้มน้ำอยู่ เพราะจะทำให้ดินแน่น การปรับปรุงคุณภาพดินทำได้ไม่ดี อีกทั้งดินที่อุ้มน้ำมากจะเป็นดินที่ขาดออกซิเจน ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช
2. เมื่อดินแห้ง ให้ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก
3. ใส่สารชีวภัณฑ์ จำพวกไตรโคเดอร์ม่า ซึ่งเป็นสารกำจัดเชื้อราในดิน ช่วยให้การเจริญเติบโตของพืชผักไม่เกิดปัญหา
ระยะการเตรียมดิน ควรพิจารณาชนิดผักที่ปลูกให้ดี เพราะบางชนิดไม่สามารถปลูกลงดินได้ทันทีหากดินมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหาหลังปลูกได้
“ความเคยชินของเกษตรกรส่วนใหญ่ในการปลูกผักจะหว่านเมล็ดพืชลงดิน แต่ระยะเตรียมดินแนะนำว่า ควรเพาะกล้าหรือปลูกลงแปลงเล็กๆ ไว้ก่อน เพื่อการดูแลที่ง่าย หลังจากดินแห้งจึงย้ายกล้าที่เพาะไว้ลงดิน โอกาสพืชผักเติบโตโดยไม่เกิดปัญหาจะดีกว่า”
หากพบว่า หลังปลูกแล้วอากาศชื้นมาก หรือฝนตก อาจเกิดปัญหา สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับพืชผักด้วยการรดน้ำปูนใสอีกทาง คุณอรสา บอกด้วยว่า หากเกษตรกรต้องการผลผลิตในระยะสั้น เพราะเกรงว่าภัยธรรมชาติอาจก่อกวนได้ในระยะเวลาอันใกล้ ควรเลือกปลูกผักที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เช่น ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า และผักตระกูลกะหล่ำ เพราะผักเหล่านี้เก็บจำหน่ายได้ตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า
เพียงเท่านี้ก็หมดข้อกังวลสำหรับผู้ปลูกพืชผัก ทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและการปลูกไว้รับประทานเองหลังน้ำลด
2. “มะละกอ-กล้วย” ที่ยังน่าสนใจมีอนาคต
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
กรณีที่ต้นไม้ผลยังเสียหายไม่หมด
“กรณีของต้นไม้ยังไม่ตาย ดินยังไม่แห้ง อย่าไปเหยียบย่ำที่โคนต้น ขณะเดียวกันก็พยายามหาทางระบายให้น้ำไหลออกให้เร็วที่สุด เมื่อดินแห้งแล้ว ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันการคายน้ำมาก จากนั้นให้ปุ๋ยทางใบ เป็นการบำรุงต้น” คุณทวีศักดิ์ ให้คำแนะนำ
แต่กรณีเสียหายหมดการต้องมาคิดปลูกใหม่ ไม้ผลระยะสั้นที่ยังมีตลาดตลอดก็มี มะละกอ-กล้วย โดยเฉพาะมะละกอกินดิบหรือตำส้มตำ อายุการให้ผลผลิตสั้น และราคาในช่วงปีที่ผ่านมาดีตลอดและน่าจะยังดีอีกนาน
หลังปลูก 6-7 เดือน มะละกอสามารถเก็บผลผลิตได้ หากเป็นมะละกอส้มตำเก็บได้เร็วกว่านี้ สำหรับกล้วยปลูกไปแล้ว 8-9 เดือน ก็มีผลผลิต การปลูกพืชผลอายุสั้นอย่างกล้วยและมะละกอ สามารถแซมในระหว่างไม้ผลหลักได้ทันที หรือจะปลูกไปก่อน แล้วปลูกไม้ผลหลักทีหลัง ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
“กล้วย ซื้อหน่อราคาไม่แพง 5-10 บาท เป็นกล้วยน้ำว้าก็ได้ กล้วยหอมทองก็ได้ มะละกอก็ซื้อผลมากิน นำเมล็ดมาเพาะได้เลย หากต้องการขายมะละกอสุกก็ปลูกพันธุ์ฮอลแลนด์ แขกดำ หากมะละกอกินดิบหรือส้มตำก็ปลูกแขกนวล การหาพันธุ์มะละกอไม่ยุ่งยาก ปอกกินเนื้อ นำเมล็ดมาเพาะ 15-20 วัน ก็ปลูกได้แล้ว ส่วนการเลือกหน่อกล้วย ควรเลือกหน่อที่อ้วน ใบแคบ เมื่อนำลงปลูกจะเจริญเติบโตเร็ว หากเป็นหน่อใหญ่ ใบกว้าง เมื่อปลูกควรตัดใบหรือยอดทิ้ง จะเจริญเติบโตเร็ว ต่างจากที่ไม่ตัดจะเจริญเติบโตช้า” ผอ. ทวีศักดิ์ อธิบาย
สำหรับการดูแลรักษานั้นเมื่อเริ่มปลูก หากมีปุ๋ยอินทรีย์ใส่ให้ก็จะดียิ่ง เหตุที่ต้องมีปุ๋ยหรือเพิ่มธาตุอาหารพืชแล้วดี เพราะหลังน้ำท่วม ดินยังขาดความอุดมสมบูรณ์เรื่องการรดน้ำก็มีความจำเป็น ถึงแม้จะผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมไปแล้วก็ตาม
**และเรา บริษัท นุชฟอร์ไลฟ์ฯ ก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรทุกท่านที่ประสบอุทกภัย
ที่มา:เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ เผยแพร่เมื่อ:วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2562